กำเนิดเหรียญกษาปณ์อินเดีย


หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญ ผู้ให้กำเนิดพระพุทธรูปแรกเริ่มของโลก
เหรียญกษาปณ์ทองคำ BOΔΔO พระเจ้าขะนิสกะมหาราช พ.ศ. 670-693


          ในสมัยโบราณ หากผู้ใดต้องการสิ่งของที่ผู้อื่นมี ต้องหาสิ่งของที่ผู้นั้นตัองการมาแลกเปลี่ยนกัน การตีราคาสิ่งของอื่นใดที่มีคุณค่ามาก ก็ให้เปรียบเทียบกับสื่อกลาง คือ วัว และ แกะ เช่น หากต้องการได้ทาสไว้รับใช้ จะตีราคาทาสแต่ละคนว่า มีค่าเทียบเท่ากับ วัว หรือ แกะ จำนวนกี่ตัว เพื่อแลกกับทาสผู้นั้น หากใคร่ทราบว่าช้างแต่ละเชือกจะมีราคาเท่าใด ก็จะตีราคาเทียบเท่ากับ วัวหรือแกะกี่ตัวเช่นกัน ด้วยเหตุนี้วัวและแกะ จึงถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานมีค่า เป็นสื่อกลางใช้สำหรับเปรียบเทียบราคาสิ่งของต่างๆ ซึ่งปรากฏจากาพเขียนในสุสานของชาวอียิปต์โบราณยุคไอย์คุป และมีกล่าวถึงในคัมภีร์พระเวทของอินเดียโบราณ ผู้มั่งคั่ง คือ ผู้ที่มีฝูงปศุสัตว์มาก การมีปศุสัตว์มากก็เหมือนกับมีทรัพย์สินมาก เนื่องจากวัวและแกะเป็นของใหญ่ยากต่อการเคลื่อนย้าย ไม่สะดวกต่อการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างเมืองระหว่างกัน จากนั้นมา จึงได้มีการคิดใช้โลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง ดีบุก เปลือกหอยเบี้ย และอื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ประทับตรารับรองค่า สื่อกลางเหล่านี้จึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นเงินตราในรูปของ เหรียญ หรือ เหรียญกษาปณ์ แบบต่างๆ


          นักวิชาการทางโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์คาดว่า เงินเหรียญ หรีอ เหรียญกษาปณ์ เริ่มมีการใช้ครั้งแรกเมื่อประมาณ 2,700 ปี มาแล้ว โดยชาว ลีเดีย (Lydia) ประมาณ 157 ปี ก่อนพุทธศักราช โดยชาวกรีกผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน คือ ประเทศตุรกีปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้น ประเทศในแถบเอเชียก็มีการใช้เหรียญกษาปณ์เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินคัาเช่นกัน อาทิ อาณาจักรใน ประเทศจีน อินเดีย และ เปอร์เชีย ผลจากการขุดค้นและศึกษาของนักโบราณคดีในยุคหลังๆ นี้ เริ่มขุดพบและมีความเข้าใจว่า หมู่ชนในแถบเอเชียมากกว่าที่มีการริเริ่มใช้เหรียญกษาปณ์ก่อนใคร เนื่องจากได้มีการชขุดพบเหรียญทองคำ ในมณฑลไฮนาน ประเทศจีน ประมาณว่าน่าจะมีอายุราว 757- 457 ปี ก่อนพุทธศักราช ดังเหรียญ เลขที่ 1933-23-1 สมบัติของ American Numismatic Society, New York, U.S.A. ในขณะเดียวกัน นักโบราณคดีของประเทศอินเดียก็ได้ขุดพบเหรียญเงิน Punch-marked ที่มีรูปแบบต่างไปจากที่เคยขุดพบจากชายแดนประเทศอินเดีย-เนปาล เชื่อว่าน่าจะมีอายุก่อนสมัยพุทธกาล หรือ เก่ากว่านั้น และจากบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยที่พระพุทธเจ้าจาริกไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนา นั้น พระเจ้าดาไรอัสที่หนึ่ง มหาราช (Darius I the Great) แห่งอาณาจักรเปอร์เชียโบราณ (ปัจจุบันคือประเทศอิรัก และ ประเทศอิหร่าน) ได้แผ่แสนยานุภาพมาถึงลุ่มน้ำสินธุ ภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย มีการขุดพบเหรียญทองคำของกษัตริย์พระองค์นี้ จึงเชี่อได้ว่าหากมีการขุดค้นและศึกษาอย่างจริงจังในประเทศอิหร่านและใกล้เคียง อาจจะพบเหรียญกษาปณ์ของอาณาจักร์เปอร์เชียโบราณ ที่เก่าแก่กว่ายุคสมัยของพระเจ้าดาไรอัสที่หนึ่ง มหาราช เช่นกัน

          ความเจริญต่างๆในโลกปัจจุบันนี้ล้วนสืบมาจากอารยะธรรมโบราณสี่อารยะธรรมหลัก ในทวีปเอเชียมี อารยะธรรมจีน แพร่กระจายอยู่แถบทะเลจีนตะวันออก มองโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ธิเบต และอีกอารยะธรรมหนึ่งคือ อารยะธรรมอินเดีย แพร่กระจายอยู่ในเอเชียใต้ได้แก่ ประเทศอาฟกานิสถาน ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล ศรีลังกา และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ประเทศเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศในยุโรปล้วนรับและสืบอารยะธรรมมาจาก กรีก และ โรมัน แทบทั้งสิ้น อารยะธรรมกรีกเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ภายหลังถูกชาวโรมันรุกรานและยึดครอง ความที่อารยะธรรมของกรีกสูงส่ง ชาวโรมันยอมรับและนำมาปรับใช้ จึงเกิดการผสมกลมกลืนกันอยู่ในตัว โดยที่จักรวรรดิโรมันกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมทวีปยุโรปเกือบทั้งทวีป ประเทศและแว่นแคว้นต่างๆในเขตอาณาต้องรับอารยะธรรมจากผู้ปกครอง เหรียญกษาปณ์โรมันจึงถูกพบกระจายอยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันยังพบเหรียญกษาปณ์โรมันได้ทั่วไปในเส้นทางสายไหมทางบก และหัวเมืองตามเส้นทางการค้าทางทะลไกลถึงแหลมญวนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


          ประเทศจีนและอินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีปราการธรรมชาติ คือ แนวเขาหิมาลัยสูงใหญ่กั้นและแยกสองชาตินี้ออกจากกัน อารยะธรรมของสองชาตินี้จึงไม่ถูกผสมปนเป ประเทศจีนทางทิศตะวันออกมีแนวปราการของทะเลจีนช่วยกั้นอิทธิพลจากภายนอก เว้นก็แต่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่เปิด กษัตริย์จีนในยุคโบราณต่างก็ได้เพียรสร้างแนวกำแพงยาวเหยียด เพื่อป้องกันการรุกรานและอารยะธรรมจากภายนอก ศาสนาพุทธจากอินเดียที่เผยแพร่เข้าไปในจีนก็มิได้มีผลต่อการผลิตเงินเหรียญ เหรียญกษาปณ์ของจีนแต่อย่างใด หรีอแม้จะถูกรุกราน ครอบครอง และ ถูกปกครองโดยชนเผ่ามองโกลที่เกรียงไกรในพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ตาม โดยที่อารยะธรรมของจีนโดดเด่นสูงกว่าผู้พิชิต ชาวมองโกลเหล่านั้นต้องยอมรับปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมจึนและถูกกลืนในที่สุด ด้วยเหตุนี้ อารยะธรรมจีนจึงไม่ถูกกระทบจากอิทธิพลภายนอก เงินเหรียญ เหรียญกษาปณ์ของจีน จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยุคโบราณจนถึงต้นพุทธศัตวรรษที่ 23 ล้วนมีรูปแบบเดิมๆ ของเงินเหรียญ อีแปะ (Sogdian cash หรือ Daguan Tong Bao) ลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง และเงินแท่ง ไซซี (Sycee หรีอ Yuan Bao) ลักษณะเหมือนรองเท้าสตรี ซึ่งต่างจากอินเดียที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้ ล้วนเป็นที่ราบทะเลทราย และที่ราบสูง จึงเป็นพื้นที่เปิด ง่ายต่อการรุกราน ส่วนทางทิศเหนือแม้จะมีเทือกเขาฮินดูกูชและเทือกเขาหิมาลัยตอนบนสูงสลับซับซ้อน แต่ก็มีช่องเขาไคเบอร์พาสเป็นทางผ่านของผู้รุกราน และเข้ามาครอบครองของชนต่างเผ่าต่างลัทธิอยู่เนืองๆ ศิลปะวัฒนธรรมและภาษาของท้องถิ่นเหล่านี้ จึงได้รับอิทธิพลจากผู้รุกราน การผสมผสานของความหลากหลายจากวัฒนธรรมเหล่านี้ ศึกษาได้จากหลักฐานที่ปรากฏบนเหรียญกษาปณ์ที่ขุดพบในท้องถิ่นเหล่านี้ จะเห็นความแตกต่างตามยุคสมัยต่างๆ ถือได้ว่าอินเดียเป็นชาติเดียวที่มีความหลากหลายของเหรียญกษาปณ์โบราณมากที่สุด จึงเป็นที่สนใจของนักกษาปณ์วิทยาและนักสะสมทั่วโลก


          เหรียญกษาปณ์ยุคแรกๆ ของอินเดีย คือ Punch-marked ทำจากโลหะเงิน ทุบหรือรีดให้บางตัดเป็นแผ่นเล็กๆ กลมหรือสี่เหลี่ยม ประทับตราเครื่องหมายต่างๆ บนหน้าเหรียญ พบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศอินเดีย เหรียญยุคแรกๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละท้องถิ่น ใช้หมุนเวียนเฉพาะที่เฉพาะถิ่น โดยทั่วไปมีสองลักษณะ คือ ขนาดเล็กบางน้ำหนักประมาณ 2.5 - 3.25 กรัม เรียกว่า (Janapadas) และ อีกแบบค่อนข้างโตและหนาน้ำหนักมากกว่า แต่ไม่เกิน 5.5 กรัม (Maha Janapadas) คำว่า Janapadas เป็นชื่อเรียกเหล่าแว่นแคว้นใหญ่น้อยเป็นผู้ผลิตเหรียญเหล่านี้ น่าจะมีอายุหลังยุคสมัยมหาภารตะ ราว 557 ปีก่อนพุทธศักราช จากนั้น ค่อยๆ ถูกครอบงำจากอิทธิพลและอำนาจของแคว้น มคธ (Magadha) ซึ่งขยายอำนาจและรุ่งเรืองราว 43 ปีก่อนพุทธศักราช และรุ่งเรืองมาก หลังจากพระพุทธเจ้าได้ดับขันธ์ปรินิพพาน

          Punch-marked ทั้งเหรียญแบนกลม กลมรี สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้วนมีตราประทับ อาทิ รูป สิงโต วัว ช้าง กระต่าย นกยูง ปลา ภูเขา สถูป บ่อน้ำ ผานไถ เครื่องหมายหกแฉก ทั่งตีเหล็ก และ อื่นๆ หากเหรียญใดมีรูปดวงอาทิตย์รัศมี 16 แฉก ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์แห่งอาณาจักรมคธ ประทับตรารับรองในฐานะเป็นผู้ผลิต เชื่อว่าเป็นของ พระเจ้าพิมพิสาร (Bimbisara) กษัตริย์องค์สุดท้ายของ กรุงราชคฤห์ (Rajir) แห่งแค้วนมคธ จากนั้น พระเจ้าอชาติศัตรู (Ajatasatru) หลังจากขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดา พระองค์ได้ย้ายไปสร้างราชธานีใหม่ที่ ปาตลีบุตร (Patna) ได้แผ่ขยายอาณาเขตและอำนาจของอาณาจักรออกไปกว้างไกลและถือได้ว่าเป็นจักรวรรดิอินเดียยุคต้น ด้วยเหตุนี้ เหรียญกษาปณ์ Punch-marked เหล่านี้ มีใช้อย่างแพร่หลาย

          ในยุคสมัยของราชวงค์ โมรียะ (Mauryan) เหรียญกษาปณ์ Punch-marked จะมีขนาดค่อนข้างเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมหนากว่าเล็กน้อย โคยเฉพาะในรัชสมัยของ พระเจ้าอโศก (Asoka) บางเหรียญปรากฏตราประทับรูปคนเดี่ยว สองคน หรือสามคน เนื่องจากอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าเดิม เหรียญกษาปณ์ Punch-marked ของยุคนี้จึงถูกใช้กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศอินเดียกว้างไกลมากกว่าแต่ก่อน ทางใต้มีการขุดพบที่เกาะศรีลังกา ทางตะวันตกขุดพบทีลุ่มน้ำสินธุ ทางเหนือขุดพบที่ ตักศิลา (Taxila) ส่วนทางตะวันออกขุดพบที่บังคลาเทศ และมีรายงานว่าได้มีการขุดค้นพบหรียญกษาปณ์ Punch-marked จำนวนหนึ่งและแผ่นศิลาจารึกเป็นอักขระพรามห์มี ในประเทศเมียนมา ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระเจ้าอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศก อาณาจักรสุวรณภูมิอยู่ในเมียนมา ส่วนในยุคกลางประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 พ่อค้าชาวอินเดียเรียกดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าสุวรรณภูมิ อันนี้ก็ยังสงสัยอยู่ว่า สุวรรณภูมิยุคนี้จะหมายถึงทวาราวดีที่ เมืองนครปฐม-อู่ทอง ของประเทศไทย หรือ หงสาวดี-ท่าธน ของประเทศเมียนมา แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังให้น้ำหนักที่เกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เพราะที่นั่นมีแหล่งแร่ทองคำและเคยเป็นแหล่งผลิตเทวรูปและพระพุทธรูปทองคำในอดีต ดังปรากฏในจดหมายเหตุ และหลักฐานทางโบราณคดีที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง ? ความที่เหรียญกษาปณ์ Punch-marked เหล่านี้มีแพร่หลายมากมายกระจ่ายไปทั่วชมภูทวีป กษัตริย์ต่างๆ ที่ปกครองต่อเนื่องกันมาอีกหลายราชวงศ์ยังคงใช้หมุนเวียนสืบต่อกันมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 6 เหรียญ Punch-Marked เหล่านี้ ภาษาบาลี เรียกว่า Kahapana ส่วนภาษาสันสกฤต เรียกว่า Karshapana หรือ Purana แปลว่า เก่า โบราณ


เหรียญกษาปณ์เงินพระเจ้าอเล็กชานเดอร์มหาราชแห่งมาเซดอน เป็นเหรียญฯ แบบแรกที่ผลิตในอียิปและเป็นต้นแบบของเหรียญฯ กรีกรุ่นต่อๆ มา
มีอิทธิพลต่อรูปแบบเหรียญฯ ในเอเชียกลางและอินเดีย

          หลังจากที่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งมาเซดอนประเทศกรีซ ยกกองทัพมารุกรานยึดครองประเทศและแว่นแคว้นใหญ่น้อยต่างๆ จนถึงอินเดีย ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดของพระองค์ ขึ้นเป็นเจ้าปกครองแคว้นเหล่านี้ และเขาเหล่านี้ได้นำหลักการวิธีการปกครองตามแบบอย่างของกรีกมาใช้ ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาและระบบเงินตรา ซึ่งก่อนหน้านี้ เหรียญกษาปณ์ที่ใช้กันในดินแดนแถบนี้ ล้วนเป็นเหรียญที่มีลักษณะรูปแบบเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ Punch-marked หรือเหรียญที่หล่อจากพิมพ์ดินเหนียวตอกตีตราเครื่องหมายสัญลักษณ์เหมือนกับเหรียญกษาปณ์ Punch-marked เช่น ต้นศรีมหาโพธิ ภูเขา สถูป วัว ช้าง กวาง สวัสดิกะ ดวงอาทิตย์ จันทร์เสี้ยว ดวงดาว แม่น้ำ สามง่าม (สัญลักษณ์ของพระศิวะ) นันทิปันดา หรือรูปไตรรัตน์ (สัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ ) เหล่าชาวกรีกผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นเหล่านี้ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์แบบกรีก คือ หน้าเหรียญมีรูปใบหน้าภาพเหมือนของเจ้าผู้ครองแคว้น กษัตริย์ หรือ เทพเจ้า ส่วนด้านหลังของเหรียญเป็นเทพเจ้ากรีกที่ตนนับถือในท่าทางต่างๆ มีอักขระกรีกระบุชื่อเจ้าผู้ครองแคว้นแห่งเหรียญฯ นั้นๆ และมีอักขระคำกล่าวศักดาบนเหรียญฯ BAΣIΛEΩΣ BAΣIΛEΩN แปลว่า กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ก่อให้เกิดการเลียนแบบและเอาอย่าง อาทิ พระเจ้าวิมา กัดฟืสส์ (Wima Kadphises) แห่งอาณาจักร คุชชาน (Kushan) ใช้อักขระ Kharoshthi อ่านเป็นภาษา บาลี หรือ ปรากฤต ดังนี้ MAHARAJASA RAJADHIRAJASA พระเจ้าขะนิสกะ (Kanishka) และกษัตริย์องค์อื่นๆ แห่งอาณาจักรคุชชาน ต่างก็ใช้อักขระ Indo-Greek ดังนี้ ÞAON ANOÞAO แม้แต่กษัตริย์ทั้งหลายในราชวงศ์ สาสาเนี่ยน (Sasanian) ใช้อักขระ ปาลาวี (เปอร์เซียโบราณ) ดังนี้ MALKAN MALKI แม้แต่ราชวงศ์ คุปตะ ก็นิยมมากเช่นกัน ใช้อักขระ พราหมณ์มี-คุปตะ อ่านเป็นภาษาสันสกฤต ดังนี้ MAHARAJA DHIRAJA ดังที่ได้กล่าวมานี้ ล้วนมีความหมายเดียวกัน คือ จอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวง หรีอ ราชาธิราช


          ในยุคนี้ กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ภาคเหนือของอินเดียมาก คือ พระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander I soter) พระยามิลินท์ พระองค์เป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีกปกครองแว่นแค้วนต่างๆ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก ใช้แพร่หลายทั่วภาคเหนืออินเดีย พระองค์ได้ให้การนับถือพุทธศาสนา เป็นพุทธศาสนูปถัมภกดังเหรียญกษาปณ์ทองแดงรูปสี่เหลี่ยมมีรูปกงล้อธรรมจักรแปดซี่ระบุชื่อพระเจ้าเมนันเดอร์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญฯ ตำนานระบุว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์เถ้าอัฐิได้ถูกแบ่งไปบรรจุในสถูปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ยุคนี้ปรัชญาและศาสนาพุทธนิกายฝ่ายเหนือได้เผยแพร่เข้ามาในภาคเหนืออินเดีย แต่อยู่ในกลุ่มชนจำกัดไม่แพร่หลายนัก


          หลังจากสิ้นยุคพระเจ้าเมนันเดอร์ อำนาจของเหล่าผู้ครองแคว้นกรีกทั้งหลายค่อยๆ เสื่อมและล่มสลาย กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรีกเหล่านั้น ต่างแข็งข้อ บ้างเข้มแข็งปลดแอกและแยกออกเป็นแว่นแคว้นปกครองตนเอง หนึ่งในนั้นคือกลุ่มเร่ร่อน คุชชาน (Kushan) ได้รุกรานเข้ามาทางภาคเหนือ และยึดครองดินแดนได้มากมาย แผ่อาณาเขตเข้ามาถึงเมืองมธุรา (Mathura) ตั้งราชวงศ์ปกครองอินเดียเหนือ ราชวงศ์คุชชานนี้ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดียอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการผลิตเหรียญทองคำจำนวนมาก บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและอำนาจทางการค้า โดยที่วัฒนธรรมของกรีกสูงส่งและปรัชญาศาสนาพุทธในขณะนั้นเริ่มเป็นที่นิยม พระเจ้าขะนิสกะ (Kanishka) มีความเลื่อมใสและให้ความสำคัญแก่ศาสนาพุทธมาก พระองค์ได้ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่แคชเมียร์ (Kashmir) การสังคายนาครั้งนี้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนปฏิรูปกฏและพระวินัยเพื่อให้เข้ากับสภาพของภูมิประเทศที่มีความแห้งแล้ง กันดาร และหนาวเย็นจัด ได้นำแนวคิดทางด้านปรัชญาของพราห์ม ฮินดู เชน และ โซโลแอสเตอร์เข้าผนวก คือ มีเทพหลายองค์เพื่อให้เข้ากันได้กับความเชื่อของชนในท้องถิ่นมีพื้นฐานของความเชื่อในเทพเจ้าต่างลัทธิอยู่ก่อนแล้ว ที่สำคัญ ให้มีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นรูปเคารพโดยมีรูปลักษณ์งดงามดั่งมนุษย์ รูปแบบของพระพุทธรูปยุคนี้ถูกเรียกว่า สกุลช่างคันทาระ (Gandhara School) ห่มคลุมจีวรเป็นจีบหนา งดงามสง่าดั่งเทพเจ้ากรีก-โรมัน และ สกุลช่างมธุรา (Mathura School) ห่มคลุมจีวรเป็นริ้วบางๆ ดั่งเทวรูป รูปเคารพศาสนาเชนของอินเดีย ขณะเดียวกันทรงโปรดให้ผลิตเหรียญกษาปณ์มีรูปพระพุทธเจ้าทั้งทองคำและทองแดง แทนรูปเครื่องหมายสัญลักษณ์เดิม เนื่องจากก่อนหน้านั้น ความเชี่อเดิมไม่ยอมให้มีการปั้นหรือสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า เพราะถือว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว จึงเป็นข้อห้ามไม่บังควร และผลจากการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งนี้ ทำให้ศาสนาพุทธนิกายฝ่ายเหนือเติบใหญ่ และได้เผยแพร่ขยายเข้าไปในเอเชียกลาง ไกลถึง จีน ผลจากการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ ศาสนาพุทธนิกายฝ่ายเหนือถูกขนานนามว่า มหายาน (Maha Yana) ยานพาหนะลำใหญ่ ทั้งยังได้เผยแพร่แนวคิดย้อนกลับเข้ามาในอินเดีย จนในที่สุดนิกายเถรวาทเดิมซึ่งถูกขนานามว่า หินยาน (Hina Yana) ยานพาหนะลำเล็ก อยู่ในอินเดียมาแต่เดิมต้องยอมรับ ปรับตัว ตามนิกายฝ่ายเหนือ คือ มหายาน ทั่วทั้งชมพูทวีป


          เมื่ออาณาจักรคุชชานเสื่อมอำนาจ ราชวงศ์ สาสาเนี่ยน (Sasanian) จากเปอร์เซียมีอำนาจแกร่งกล้า ค่อยๆ รุกรานเข้ามาทางลุ่มน้ำสินธุ ตอนแรกยึดครองดินแดนตลอดฝั่งแนวตะวันตกของแม่น้ำสินธุ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของอาณาจักรคุชชาน ในที่สุด ก็ยึดได้ถึงทางเหนือของกรุงคาบูลทั้งหมด ราชวงศ์สาสาเนี่ยนได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำจำนวนหนึ่ง จำลองรูปแบบเหรียญกษาปณ์ทองคำของคุชชานตอนปลาย ด้านหลังจะเป็นภาพแท่นบูชาไฟตามแบบลัทธิ โซโรแอสเตอร์ (Zoroastor) ซี่งเป็นศาสนาหลักของสาสาเนี่ยน เหรียญกษาปณ์ส่วนใหญ่ของสาสาเนี่ยน ทำด้วยเงิน ทองแดง และดีบุก ส่วนเหรียญกษาปณ์ทองคำผลิตจำนวนน้อยมาก ซึ่งอาณาจักรของสาสาเนี่ยนอยู่นอกอาณาเขตของอินเดีย จึงไม่มีผลกระทบต่ออารยะธรรมของอินเดีย จะมีก็เป็นส่วนน้อยเฉพาะดินแดนแว่นแคว้น ที่อยู่ติดกับแม่น้ำสินธุเท่านั้น


          ในขณะที่อาณาจักรคุชชานเริ่มเสื่อมอำนาจ และอาณาจักรสาสาเนี่ยนกำลังเติบใหญ่ นั้น ปรากฏมีอาณาจักรเล็กๆ ในอินเดีย ตอนใต้ของรัฐพิหารได้ก่อตัวสร้างอาณาจักรและสถาปนาราชวงศ์ คุปตะ (Gupta) ค่อยๆ แผ่อำนาจและขยายดินแดนออกไป ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด ทิศเหนือครอบครองแค้วนแคชเมียร์ ชายแดนทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงแคว้นอัสสัมจรดเชิงเขาหิมาลัย ทิศตะวันออกครอบคลุมแค้วนเบงกอล ทิศใต้ครอบคลุมภาคกลางทั้งหมดของอินเดีย ทางทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสินธุ สมัยราชวงศ์คุปตะถือเป็นยุคทองของอินเดียในทุกด้าน เศรษฐกิจ การค้า วิทยาการ วรรณคดี ศิลปะวัฒนธรรม พระพุทธรูปในยุคนี้ พุทธศิลป์ครองจีวรบางแนบเนื้อ เรียบง่าย ใบหน้ารูปไข่ ตาครึ่งหลับ สงบดั่งมีสมาธิ อ่อนช้อย งดงาม เป็นศิลปะแบบอินเดียแท้ ศาสนาประจำราชวงศ์คุปตะ คือ ฮินดู ยุคนี้เป็นยุคปฏิรูปศาสนาฮินดู ราชวงศ์คุปตะได้ให้กำเนิดเทพเจ้าองค์ใหม่ คือพระวิษณุและชายา พระนางลักษมี จากนั้น ยังกำหนดให้พระวิษณุมีความสามารถอวตารลงมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์ มหากาพย์ ซึ่งเป็นบทประพันธ์มาแต่ยุคพระเวท เช่นรามายานะ (รามเกียรติ์) และ มหาภารตะ ถูกแก้ไขปรับปรุงเสริมแต่งเพื่อส่งเสริมอำนาจและบารมีของพระวิษณุ แทรกให้เป็นตัวสำคัญ โดยอวตารลงมาเป็นพระรามและพระกฤษณะเพื่อปราบยุคเข็ญ แม้แต่พระพุทธเจ้าศาสดาแห่งศาสนาพุธก็ถูกอ้างให้เป็นอวตารองค์ที่เก้า ถัดจากการอวตารเป็นพระรามในรามายานะและพระกฤษณะในมหาภารตะ ด้วยเหตุนี้ชาวฮินดูจึงให้ความนับถือพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นเทพเจ้าปางอวตารของพระวิษณุ และถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งความเชื่อของศาสนาฮินดูนับแต่นั้นมา

          ความสูงส่งของงานศิลปะและความมั่งคั่ง หาดูได้จากเหรียญกษาปณ์ทองคำ ซึ่งมีความงดงาม สมกับที่ได้ชื่อว่ายุคทองของอินเดีย เพราะเหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในระะบบเงินตราของอาณาจักรส่วนใหญ่ล้วนทำด้วยทองคำ เหรียญกษาปณ์ที่เป็นโลหะอื่น เช่น เงิน ทองแดง มีน้อยมาก เหรียญกษาปณ์ทองคำยุคแรกๆ ได้รับอิทธิพลและจำลองแบบมาจากเหรียญกษาปณ์ทองคำ ของอาณาจักรคุชชานตอนปลาย ยุคสมัยของ พระเจ้าจันทราคุปตะที่สอง (Chandragupta II) ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เหรียญกษาปณ์ทองคำมีความงาม โดดเด่น มีเอกลักษณ์และสวยงามเฉพาะตัว เป็นศิลปะอินเดียที่บริสุทธิ์ เหรียญกษาปณ์ทองคำของ พระเจ้ากุมาราคุปตะที่หนึ่ง (Kumaragupta I) ซึ่งได้ครองราชต่อจากพระเจ้าจันทราคุปตะที่สองก็มีความงามเป็นเลิศไม่แพ้กัน

          กาลต่อมาอาณาจักรคุปตะก็ถึงยุคเสื่อมและล่มสลายจากการรุกรานและทำลายโดยพวก Hephthalites อินเดียเรียกชนเผ่านี้ว่า ฮูนะ (Huna) ผู้ด้อยอารยะธรรมจากภาคตะวันตกของอินเดีย ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสาสาเนียน ในขณะเดียวกัน สาสาเนียนก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจักรวรรดิโรมันตะวันออก ต่างทำสงครามผลัดกันแพ้ชนะอยู่เสมอ

          หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์คุปตะ อินเดียอยู่ในยุคถดถอย แม้ พระเจ้าศิลาดิตยา (Siladitya) อีกพระนามหนึ่ง พระเจ้าหรรษาวัฒนา (Harshavardhana) ผู้สถาปณาราชวงศ์ วัฒนา (Vardhana) ได้ขับไล่ผู้รุกราน ฮูนะ และพยายามฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม แต่ก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่ายุคสมัยของราชวงศ์คุปตะ จากนั้นแม้ราชวงศ์ ปาละ (Pala) ได้พยายามฟื้นฟู สร้างรูปแบบศิลปะกรรมแบบเบงกอลก็ตาม ในที่สุดก็ถึงจุดเสื่อมมากในราชวงศ์ถัดมา คือ ราชวงศ์ ปาละเสนะ (Pala Sena)


          เหรียญกษาปณ์หลายๆ ราชวงศ์หลังคุปตะ ไม่มีความโดดเด่นหรือน่าสนใจนัก จนกระทั่งถึงยุคสมัยราชวงศ์ มูกัล (Mughal) หรือ โมกุล (Moghul) กลุ่มชนชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ ซึ่งเป็นผู้รุกรานจากอาฟกานิสถานได้เข้ามายึดครองและก่อตั้งราชวงศ์ปกครองอินเดียเหนือ กษัตริย์องค์ที่สำคัญและมีชื่อเสียง คือ พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) และพระราชโอรส ซึ่งต่อมาได้ครองราชสืบต่อพระเจ้าอักบาร์ทรงพระนาม พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) สองพระองค์นี้เป็นผู้ที่ทำให้ศิลปกรรมและวรรณกรรมของอินเดียได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยที่ราชวงศ์มูกัลนับถือศาสนาอิสลาม งานศิลปะกรรมและวรรณกรรมจึงค่อนไปทางแบบอย่างศาสนาอิสลาม กระนั้นก็ดี โดยที่พระเจ้าอักบาร์มีความตระหนักต่อการอยู่ร่วมกันของประชากรต่างศาสนาในราชอาณาจักร เนื่องจากอินเดียมีหลากหลายศาสนา ลัทธิและความเชื่อ มี ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนาซิกก์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรแอสเต้อ และ อื่นๆ พระองค์จึงได้ปฏิรูปศาสนาอิสลามที่ถือปฏิบัติอยู่ขณะนั้น โดยปรับปรุงหลักปฏิบัติ ผ่อนผันและยินยอม ให้ประชากรต่างศาสนาและต่างลัทธิความเชื่อเหล่านั้น ให้มีเสรีภาพในการประกอบกิจทางศาสนาได้อย่างเสรี ทั้งสองพระองค์ไม่ทำลายล้างผลาญศาสนะสถานของศาสนาอื่น พระเจ้าอักบาร์ทรงสนพระทัยวรรณคดีของฮินดู และทรงโปรดให้ ตุลสิดาส (Tulsidas) นักปราชญ์พราหม์ผู้มีชื่อเสียงในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้เขียนวรรฌกรรม รามายานะ (Ramayana) คือ รามเกียรติ์ ชื่อ Ram Charita Manas ฉบับปรับปรุงใหม่ เข้าพบ ความที่พระเจ้าอักบาร์ทรงมีกุศโลบายให้ประชากรอินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูยอมรับ จึงทรงโปรดให้มีการแปล และ เขียนรามายานะเป็นหนังสือประกอบรูปภาพเป็นภาษาเปอร์เชีย ชื่อ Ramayan และ หนังสือ มหาภาราตะ (Maha Bharata) ชื่อ Razmnama (Book of war) สำหรับพระราชมารดาได้อ่านเพื่อรับรู้และเข้าใจวรรณกรรมและวัฒนธรรมของฮินดู ในขณะเดียวกันได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำและเงิน หน้าเหรียญเป็นภาพพระรามเดินดงถือคันศรและลูกธนู มีนางสีดาเดินตาม บนเหรียญฯ มีอักขระ นาการี (Nagari) คำว่า รามา สียา (Rama-Siya) มอบให้แก่แม่ทัพนายกองที่เป็นชาวฮินดูและชนชั้นสูง

          กษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้เป็นนักปฏิรูป บ่อยครั้งได้เชิญนักปราชญ์ นักบวช ในศาสนาฮินดู ศาสนาเชน และศาสนาอื่น มาถกหลักปรัชญาของตนในราชสำนัก พระเจ้าจาหังกีร์ทรงมีมเหสีเอกชื่อ นูร์จาฮัน (Nur Jahan) มเหสีเอกพระองค์นี้เดิมเป็นสตรีชาวเปอร์เชียมีความสนพระทัยและโปรดปรานงานประณีตศิลป์ เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมให้พระเจ้าจาหังกีร์ ผลิตเหรียญกษาปณ์ชุดจักรราศี 12 เดือน ที่มีชื่อเสียง พระเจ้าอักบาร์และพระเจ้าจาหังกีร์กล้าแหกกฏและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ได้กำหนดให้ท้องพระคลังออกแบบและผลิตเหรียญกษาปณ์มีรูปภาพคนหรือภาพสัตว์บนหน้าเหรียญ และประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphic) ด้วยเหตุนี้ เหรียญกษาปณ์ที่ทำด้วยทองคำและเงินของสองพระองค์นี้ จึงมีความแตกต่างไปจากเหรียญกษาปณ์ของกระษัตริย์ก่อนหน้านั้น คือ มีความสวยงามและปราณีต เป็นที่ต้องการของนักสะสม เพราะผลิตอย่างวิจิตรจากช่างฝีมือราชสำนัก เหรียญกษาปณ์ของราชวงค์มูกัลที่มีรูปภาพเหล่านี้ เป็นสิ่งมีค่าชุดสุดท้ายของอินเดียที่ผลิตด้วยมือ จากนั้น หลังจากที่ พระเจ้าชาจาฮัน (Shah Jahan) ผู้สร้างทัสมาฮาล ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจาหังกีร์ได้สืบราชสมบัติสืบทอดต่อจากพระราชบิดา เนื่องจากพระเจ้าชาจาฮันเป็นผู้เคร่งครัดต่อบทบัญญัติและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม จึงมิได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ตามแบบอย่างพระราชบิดา ตรงกันข้ามกลับเข้มงวดและออกกฏห้ามกระทำ เพราะขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และอีกเช่นกัน พระเจ้าออรังซิป (Aurangzib) พระราชโอรสของพระเจ้าชาจาฮัน ผู้สืบราชราชบัลังก์ต่อมา ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่เคร่งครัดต่อกฏของศาสนาอิสลาม ครั้นเมื่ออังกฤษรุกรานเข้ามาและได้ยึดครองอินเดียได้ทั้งประเทศ เหรียญกษาปณ์จึงมีรูปแบบอย่างตะวันตก ผลิตด้วยเครื่องจักร ขาดเสน่ห์ เพราะผลิตออกมาคราวละจำนวนมากๆ

          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ...... ท่านสามารถ คัดลอก หรือ Downloads รูปภาพ ซึ่งบางภาพอาจมีลายน้ำ กรุณาอย่าลบ แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องคงไว้เพื่อเป็นตัวอ้างอิงถึงที่มาและความเป็นเจ้าของ

คลิกที่นี่ เพื่อย้อนกลับสู่หน้าหลัก