คลิกที่ภาพเพื่อดูต่อเนื่องทั้งชุด
ต้นพุทธศตวรรษที่ 9 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4) ราชวงศ์คุปตะได้ถือกำเนิดขึ้นจากเจ้าผู้ครองอาณาเขตเล็กๆ อยู่ใต้รัฐพิหารนาม ศรีคุปตะ (Srigupta) หรือ คุปตะ
และราชบุตรนาม คาทอทคาช่า (Ghatotkacha) ถือเป็นต้นตระกูล (จากบันทึกของหลวงจีน I-tsang เดินธุดงมาศึกษาพระธรรมในอินเดียยุคนั้น) และเริ่มมีอำนาจสืบสานจนเป็นที่รับรู้ก็ต่อเมื่อ
พระราชบุตรของพระเจ้าคาทอทคาช่านาม พระเจ้าจันทราคุปตะที่หนึ่ง (Chandragupta I) ได้แผ่พระราชอำนาจและขยายดินแดนออกไป ความยิ่งใหญ่นี้ดูได้จากคำหน้าพระนาม
Maharajadhiraja แทนคำหน้าพระนามว่า Maharaja และพระองค์เป็นผู้ริเริ่มผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำจากการหลอมละลายเหรียญกษาปณ์ทองคำของคุชชานและเหรียญกษาปณ์ทองคำของโรมัน
Aurei จากการค้าขายทางซีกตะวันตกกับพ่อค้าจากโรมันตะวันออก
หลังจากที่ พระเจ้าสะมุดาคุปตะ (Samudagupta) ขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดาพระเจ้าจันทราคุปตะที่หนึ่ง พระองค์ได้ขยายอาณาเขตและพระราชอำนาจ ด้วยการทำสงครามกับดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้
จนมีแนวเขตจรดฝั่งทะเลของมหาสมุทรอินเดีย แม้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็ไม่เว้น ล้วนตกอยู่ในพระราชอำนาจแทบทั้งสิ้น
พระเจ้าจันทราคุปตะที่สอง (Chandragupta II) พระราชโอรสได้ครองราชต่อมา ได้ทรงขยายพระราชอำนาจเหนือดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ และยังได้ดินแดนของโอริสาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก
จากนั้น พระเจ้ากุมาราคุปตะที่หนึ่ง (Kumaragupta I) พระราชโอรสได้ครองราช พระองค์ได้ผนวกดินแดนใจกลางทวีป คือกูจาราจและเสาราชทราทำให้ราชอาณาจักรกว้างไกลออกไปอีก
แต่ในปลายรัชการเริ่มมีการกระทบกระทั่งกับพวก (Hephthalites) อินเดียเรียกว่า ฮูนะ ซึ่งปกครองดินแดนฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำสินธุทั้งหมด
พระเจ้าสะกานดาคุปตะ (Sakandagupta) ได้เป็นกษัตริย์สืบราชวงศ์ต่อมา ยังคงครอบครองอาณาจักรส่วนใหญ่ไว้ได้ทั้งที่ดินแดนทางภาคตะวันตกบางส่วนถูกรุกรานและถูกฮูนะยึดครอง อาณาจักรและดินแดนที่เคยยึดครองมาแต่ก่อน
เริ่มแตกแยกเป็นรัฐน้อยใหญ่ พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาพระเจ้าพุทธคุปตะ (Buddhagupta) ได้เสียดินแดนทางทิศตะวันตกทั้งหมด ถูกครอบครองโดยฮูนะ อย่างไรก็ดีพระองค์ยังครอบครองดินแดน รัฐพิหาร เบงกอลและโอริสาอยู่
เมื่อสิ้นพระเจ้าพุทธคุปตะ อำนาจแห่งรัฐถดถอยไปมาก แต่ก็ยังมีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องอีกหลายพระองค์ คือ พระเจ้าจันทราคุปตะที่สาม (Chandragupta III) พระเจ้าประคาสาดิทยา (Prakasaditya) พระเจ้าไวณะคุปตะ
(Vainagupta) พระเจ้านารายสิมหะคุปตะ (Naraisimhagupta) พระเจ้ากุมาราคุปตะที่สอง (Gumaragupta II) และสุดท้าย พระเจ้าวิศนุคุปตะ (Vishnugupta)
จากนั้นราชวงศ์คุปตะก็ถึงกาลล่มสลายเมื่อปี พ.ศ. 1086 (ค.ศ. 543)
ในยุคสมัยการปกครองของราชวงศ์คุปตะ ถือเป็นยุคทองของอินเดียอย่างแท้จริง การค้า วิทยาการ วรรณกรรม ศาสนา ศิลปะกรรม เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด เหรียญกษาปณ์ล้วนทำด้วยทองคำ ในยุคแรกๆ ถึงจะรับอิทธิพลโดยตรงจากคุชชานก็จริง แต่ก็ได้พัฒนาปรับปรุงมาตามลำดับรัชกาล
จนกระทั่งถึงจุดสูงสุด มีความงามอย่างบริสุทธิถือเป็นศิลปะอินเดียแท้ คือในรัชสมัย พระเจ้าจันทราคุปตะที่สอง (Chandragupta II) และรัชสมัย พระเจ้ากุมาราคุปตะที่หนึ่ง (Kumaragupta I)
พระพุทธรูปคุปตะที่สวยงามห่มคลุมจีวรบางแนบพระวรกายน่าจะเป็นงานศิลป์ในยุคสมัยของสองรัชกาลนี้
การผลิตเหรียญกษาปณ์ของแต่ละรัชกาลของราชวงศ์คุปตะ ล้วนแล้วแต่สืบแนวคิดของกรีกผ่านเหรียญกษาปณ์ของคุชชาน มีความมุ่งหมาย ทางการเมือง เพื่อประกาศศักดาถึงความมีอำนาจบารมีแห่งกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ดั่งเทพเจ้าผู้ปกป้องคุ้มครอง มีความองอาจ กล้าหาญ สง่างามเฉกเช่นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ
ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ของกษัตริย์ทุกรัชกาลจะแสดงภาพของเทพสตรื พระนางลักษมี (Lakshmi) พระชายาของพระวิษณุในอริยาบทต่างๆ ทั้งคู่เป็นเทพเจ้าฮินดูที่ถูกสร้างและกำเนิดในยุคนี้ และเป็นเทพเจ้าหลักของราชวงศ์คุปตะ
มาถึงรัชกาลของ พระเจ้าสะกานดาคุปตะ (Sakandagupta) ราชอาณาจักรขาดความสงบสุข ดินแดนห่างไกลเริ่มมีปัญหา มีสงคราม บรรดารัฐและแคว้นในเขตอาณาเริ่มกระด้างกระเดื่อง ความมั่งคั่งรุ่งเรืองที่เคยมีมาแต่รัชกาลก่อนเริ่มเสื่อม
เหรียญกษาปณ์ทองคำขาดความสง่างาม ผลิตออกมาน้อย และมีการผลิตเหรียญกษาปณ์จากโลหะเงิน ทองแดง และโลหะอื่น ทดแทนเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเงินตรามากขึ้น ซึ่งเหรียญกษาปณ์ประเภทนี้เริ่มรับรู้และได้เห็นในปลายรัชกาลของ พระเจ้ากุมาราคุปตะที่หนึ่ง
(Kumaragupta I) ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีสงครามกับพวกฮูนะที่ชายแดนตะวันตก
คลิกที่นี่ เพื่อย้อนกลับสู่หน้าแรก