คลิกที่ภาพเพื่อดูต่อเนื่องทั้งชุด

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซดอนได้กรีฑาทัพมาถึงอินเดีย ในฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ. 217 (ค.ศ. 326 ก่อนคริษต์ศักราช) พระองค์ทรงนำทัพผ่านมาทางลุ่มน้ำสินธุ และรุกคืบถึงแคว้น ตักศิลา (Taxila) หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ดินแดนที่ได้ยึดครองทั้งหลายถูกแบ่ง และจัดสรรให้บรรดานายทัพนายกองปกครอง โดยดินแดนทางตะวันออกทั้งหมด ให้ขึ้นกับอาณาจักรกรีกแห่งใหม่ ซึ่งได้ถูกสถาปนาขึ้นที่ซีเรีย เรียกอาณาจักรแห่งนี้ว่า Seleucid มีเขตอาณาทางทิศตะวันออกไกลถึงลุ่มน้ำสินธุ

          ในยุคการปกครองของ พระเจ้าอันติโอชอสที่สอง (Antiochos II) แห่ง Seleucid ประมาณปี พ.ศ. 293 (ค.ศ. 250 ก่อนคริสต์ศักราช) ดิโอโดตัส (Diodotus) ชาวกรีก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแคว้น แบคเตรีย (Bactria) ซึ่งตั้งอยู่เหนือ ฮินดูกูซ (Hindukush) ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำมีรูปใบหน้าของตนเอง ด้านหลังใช้พระนามของพระเจ้าอันติโอชอสที่สอง หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอันติโอชอสที่สองแห่ง Seleucid ดิโอโดตัสได้เอาใจออกห่าง และประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อการปกครองของ Seleucid ทรงสถาปนาตนเองขึ้นปกครองแคว้นแบกเตรีย (Bactria) คราวนี้ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์แบบเดิม แต่ได้เปลี่ยนพระนาม ด้านหลังของเหรียญเป็น Diodotus

          หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าดิโอโดตัส พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติ และใช้พระนามว่า ดิโอโดตัส (Diodotus) เหมือนพระนามของพระราชบิดา ในตอนปลายรัชการถูกแย่งชิงราชสมบัติ และถูกปกครองแทนที่ โดย พระเจ้ายูทีดีม้สที่หนึ่ง (Euthydemus I) พระองค์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำ และสืบทอดราชสมบัติโดยราชโอรสทรงพระนามว่า พระเจ้าดีมีเตรียส (Demetrius) พระองค์ได้ขยายอาณาเขตจากแคว้นแบคเตรีย (Bactria) มาถึงอาฟกานิสถาน และปัญจาบ แต่ก็ถูก ยูคราติเดส (Eucratides) คู่ปรับแย่งชิงอำนาจได้อาณาจักร ดินแดนแคว้นแบคเตรีย ( Bactria) และแคว้น คันทาระ (Gandhara) คงเหลือแต่แคว้นอาฟกานิสถานและปัญจาบ ซึ่งพระเจ้าดีมีเตรียสยังทรงครอบครองอยู่ และได้สืบทอดดินแดนต่อมายัง พระเจ้าแพนทาเลี่ยน (Pantaleon) และ พระเจ้าอะกาโตเคิลส์ (Agathocles)

          จากนั้นก็สืบทอดมาถึง พระจ้าเมนันเดอร์ที่หนึ่ง (Menander I Soter) พระองค์เป็นกษัตริย์ชาวกรีก (อินเดียเรียกชาวกรีกว่า ชาวโยนก Yanaga) พระองค์เดียวที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ (มหายาน) พระยามิลินท์ เป็นตัวเอกของเรื่องในคัมภึร์ มิลินท์ปัญหา (Milin-panha) หรือ มิลินท์สูตร พระเจ้าเมนันเดอร์ที่หนึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงอำนาจมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในบรรดากษัตริย์ของ อินโด-กรีก (Indo-Greek) ทั้งหลาย พระองค์ มิได้ปกครองแต่เฉพาะในแคว้นคันทาระและปัญจาบเท่านั้น ทว่ามีอำนาจเหนือแคว้นแบกเตรีย (Bactria) ยังได้กรีฑาทัพรุกรานลึกเข้าไปในดินแดนของอินเดียถึงลุ่มน้ำคงคา และได้แต่งตั้งบุคคลในอาณัติ อาทิ โพรีเซนัส (Polyxenus) และ อีแพนเดอร์ (Epander) ทำหน้าที่ ดูแล ปกครอง และ บริหารดินแดนเหล่าน้้น ความยิ่งใหญ่นี้ได้ถูกบันทึกโดยชาวตะวันตก ซึ่งในบรรดาบันทึกเหล่านั้นได้ระบุเฉพาะกษัตริย์ชาวกรีกที่ปกครองดินแดนในเอเชียเพียงสองพระองค์เท่านั้น ได้แก่พระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซดอน และพระจ้าเมนันเดอร์ที่หนึ่ง แห่งอินโด-กรีก หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเมนันเดอร์ที่หนึ่งและพระเจ้ายูเครติดัส อิทธิพลและอำนาจในการปกครองของอินโด-กรีก (Indo-Greek) เริ่มสั่นคลอนอ่อนแอ และล่มสลายในที่สุด

          เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคนี้แหละที่มีการผลิตและใช้เหรียญกษาปณ์ทองคำครั้งแรกในดินแดนแถบนี้ ซึ่งเผยแพร่โดยชาวกรีกจากการรุกรานของกองทัพพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราชจากมาเซดอน ส่วนใหญ่ผลิตโดยพระเจ้าดิโอโดตัส (Diodotus) พระเจ้ายูคราติเดส (Eucratides) และพระเจ้ายูทีดีมัส (Euthydemus) ซึ่งล้วนแต่ผลิตในดินแดนของแบกเตรีย (Bactria) แทบทั้งสิ้น พระเจ้าเมนันเดอร์ที่หนึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรก ที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำในดินแดนอินเดีย แต่ทว่ามีจำนวนน้อยมาก (หายากมากๆ มักพบบรรจุอยู่ในพระสถูปเจดีย์) ส่วนกษัตริย์ อินโด-กรีก องค์อื่นๆ ผลิตแต่เหรียญกษาปณ์ ที่ทำจากโลหะเงินและทองแดงเป็นส่วนใหญ่


เหรียญกษาปณ์เงินพระเจ้าอเล็กชานเดอร์มหาราชแห่งมาเซดอน เป็นเหรียญฯ แบบแรกที่ผลิตในอียิปและเป็นต้นแบบของเหรียญฯ กรีกรุ่นต่อๆ มา มีอิทธิพลต่่อรูปแบบเหรียญฯ ในเอเชียกลางและอินเดีย




คลิกที่นี่ เพื่อย้อนกลับสู่หน้าแรก