คลิกที่ภาพเพื่อดูต่อเนื่องทั้งชุด

          ราวพุทธศตวรรษที่ 19 (คริสต์ศตวรรษที่ 14) กองทัพมองโกลนำโดย ติเมอร์ (Timur) ได้ยกทัพมารุกรานเอเชียตะวันตกและรุกรานอินเดียถึงกรุงเดลฮี จากนั้นอีกห้าชั่วคนลูกหลานชาวมองโกลเหล่านั้น ซึ่งเรียกตัวเองว่า มูกัล (Mughal) บ้างก็เรียกว่า โมกุล (Mogul) ซึ่งมาจากคำอาหรับว่า มองโกล (Mongol) ดั้งเดิมคือ Chaghatai Turk ได้กรีฑาทัพเข้ามารุกรานอินเดียอีกครั้ง กล่าวคือหลังจากที่ถูกขับออกไปจาก Transoxiana ในปี พ.ศ. 2048 (ค.ศ. 1505) ต้องไปปักหลักพักพิงอยู่ที่อาฟกานิสถานรวมเวลาร่วม 20 ปี จากนั้นราวปี พ.ศ. 2069 (ค.ศ. 1526) ซาฮิรุดดิน บาร์เบอร์ (Zahiruddin Barbur) ได้รวบรวมกองทัพย้อนกลับเข้ามารุกรานอินเดียอีก ทำสงครามกับ สุลต่านอิบราฮิม โรดี้ (Ibrahim Lodi) เจ้าผู้ครองนครเดลฮี เกิดการรบพุ่งที่เขตเมือง ปานิพัท (Panipat) สุลต่านอิบราฮิม โรดี้ ตายในที่รบ ซาฮิรุดดิน บาร์เบอร์ (Zahiruddin Barber) และบุตรชาย ฮูมายูน (Humayun) ได้เข้ายึดครองกรุงเดลฮี แต่ก็ยึดครองได้ไม่นาน ถูกต่อต้านและถูกขับออกจากกรุงเดลฮีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2085 (ค.ศ. 1542) ต้องเร่ร่อนอยู่ในเปอร์เชียนานร่วม 13 ปี จึงได้รวบรวมกำลังเข้ามายึดครองกรุงเดลฮีได้สำเร็จอีกครั้ง คราวนี้ได้สถาปนาราชวงศ์ มูกัล (Mughal) และตั้งตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าฮูมายูน ในปี พ.ศ. 2099 (ค.ศ. 1556) พระราชโอรสทรงพระนาม พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อมา พระองค์ได้ทรงวางรากฐานของราชวงศ์มูกัลให้เข้มแข็ง โดยการขยายอาณาเขตรวบรวมดินแดนทางทิศเหนือและตอนกลางทวีปของอินเดีย เข้ายึดครองที่ราบสูงเดคข่าน (Deccan) ในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 (คริสต์ศตวรรษที่ 17)


ภาพเขียน พระเจ้าอักบาร์ และ พระเจ้าจาร์หังกีร์

          พระเจ้าอักบาร์ได้ชื่อว่าเป็นประมุขแห่งอิสลามนอกรีต ก่อนหน้านี้ประมุขอิสลามผู้รุกรานหลายพระองค์มุ่งมั่นตั้งใจทำลายล้างศาสนะสถาน ศิลปะวัตถุ เทวรูป เทวสถานของศาสนาพุทธ เชน และฮินดู เพื่อบังคับให้ชนในท้องถิ่นที่ถูกยึดครองเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม เฉกเช่นพวกโปรตุเกสและสเปนในยุคล่าอาณานิคม ทำลายล้างบังคับให้ชนพื้นเมืองในแต่ละถิ่นที่ตนเข้าไปยึดครอง ให้เข้ารีตคริสต์ศาสนา ซึ่งรับรู้ได้จากทรากโบราณสถานที่หลงเหลือ ทุกครั้งที่ทำสงครามและได้รับชัยชนะจะตามด้วยการปล้นสะดม ทำลายล้างและเข่นฆ่าประชาชนในท้องถิ่นนั้น แต่พระเจ้าอักบาร์และราชบุตรซึ่งต่อมาได้เป็นผู้สืบราชสมบัตินาม พระเจ้าจาหังกีร์ กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้ามประหนึ่งไม่ใช่มุสลิม พระเจ้าอักบาร์ทรงบัญชา ให้แปลบทประพันธ์อันยิ่งใหญ่ของชาวฮินดู คือ รามายานะ (Ramayana) และ มหาภารตะ (Mahabharata) เป็นภาษาเปอร์เชีย และสนับสนุนให้ชาวมุสลิม ฮินดู และเชน มีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ประชุม ถกหลักปรัชญา และหลักศาสนาร่วมกันได้ พระองค์ได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษี Jizia จากบุคคลผู้นับถือศาสนาอื่นที่มิใช่มุสลิม ซึ่งก่อนหน้านี้ประชากรที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาเชน และอื่นๆ ต้องจ่ายภาษี Jizia ในปี พ.ศ 2127 (ค.ศ. 1584) พระองค์ได้ปฏิรูปแนวคิดของศาสนาอิสลามขึ้นมาใหม่เรียกว่า Din-e-Elahi (Divine Faith) และเปลี่ยนศักราชจากจันทรคติเป็นสุริยคติ Illahi era คือ หนี่งปีมี 12 เดือน ตามแบบของศาสนาคริสต์ การปฏิรูปศาสนาครั้งนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและแรงต้านของผู้เคร่งศาสนาอิสลาม ต่างกล่าวหาว่าพระองค์เป็นฮินดู ทว่า กลับทำให้พระองค้ได้รับการยอมรับ จากเหล่าปัญญาชนต่างศาสนาในราชสำนัก ไม่ต้องกังวล หรือ ระแวงว่าตนเป็นคนต่างศาสนา กุศโลบายอันชาญฉลาดนี้ ทำให้ประชากรในเขตอาณาของพระองค์ ยอมรับการปกครองของราชวงศ์มูกัลเป็นประมุข และยังช่วยให้พระเจ้าอักบาร์ และ ผู้สืบราชวงศ์ กษัตริย์องค์ต่อมา มีความเข้มแข็งและรุ่งเรืองยาวนานร่วมสองศตวรรษ


พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) เยี่ยมสนทนาธรรมกับนักพรต ซึ่งเป็นนักบุญของศาสนาฮินดู Gosain Jadrup ภาพจาก Musee Gumet, Paris.

          ภาพวาดนี้ พรรณาให้เห็นว่า จักรพรรดิ์อักบาร์ (Akbar) ในวัยชรา เข้าพบนักบุญในศาสนาฮินดู นาม Gosain Jadrup ทรงนั่งสนทนาธรรม นอกกุฏิซอมซ่อของ Jadrup ตั้งอยู่บนเนินชายเขา ชนบทนอกเมือง Ujjain ในแคว้นมัธยาประเทศ พระองค์ทรงถอดรองเท้า นั่งกับพื้นระดับเดียวกับนักบวช เพื่อแสดงความเคารพ นบนอบอย่างสูง ในสมุดบันทึกของพระเจ้าอักบาร์ (Akbarnama) ทรงพรรณาว่า Jadrup คือ ผู้หยั่งรู้ทางจิตวิญญาน

          การได้พบสนทนาธรรมกับ Jadrup ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เปิดกว้าง มีผลสืบมาถึงราชบุตร พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) ได้รับมอบหมาย ให้สืบทอดความเชื่อ และ ศรัทธาต่อนักพรตผู้นี้ จากการรับรู้ลายลักษณ์อักษร ในบันทึก ของพระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangirnama)


พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) เยี่ยมสนทนาธรรมกับนักพรต ซึ่งเป็นนักบุญของศาสนาฮินดู Gosain Jadrup ภาพจาก Harvard University Art Museum, Cambridge.

          พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำ เงิน และทองแดง โดยมีรูปแบบมาจากเหรียญกษาปณ์ ชูรี (Suri) พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) กำหนดให้เรียกเหรียญกษาปณ์ทองคำว่า โมเฮอร์ (Mohur) มีน้ำหนักประมาณ 11.016 กรัม (170 grains) เหรียญกษาปณ์เงินเรียกว่า รูปี (Rupee) มึน้ำหนักประมาณ 12.83 กรัม (198 grains) เหรียญกษาปณ์ทองแดงเรียกว่า แดม (Dam) มีน้ำหนักประมาณ 21.38 กรัม (330 grains) หนึ่งโมเฮอร์มีค่าเทียบเท่า 9 รูปี หนึ่งรูปีมีค่าเทียบเท่า 40 แดม เหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ส่วนมากมีลักษณะกลมแบน และบ้างก็สี่เหลี่ยม (ผลิตจำนวนน้อย) พระองค์ยังได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำแบบ มิราบิ (Mihrabi หรือ Mehrabi หรือ Merhabi) รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายมนเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญ และยังได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำที่มีภาพคน ภาพสัตว์ เช่น นกเป็ดน้ำ นกเหยี่ยว ในโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ ระบุศักราช Illahi ด้วย

          หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอักบาร์ (Akbar) พระราชโอรสทรงพระนาม พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ทันทีหลังจากพิธีราชาภิเศก พระองค์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำเหรียญแรกของพระองค์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้พระราชบิดา จึงเป็นเหรียญกษาปณ์ทองคำเหรียญแรกทีมีภาพกษัตริย์ของราชวงศ์มูกัลบนเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเป็นรูปพระพักตร์ของพระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ด้านหลังเป็นรูปดวงอาทิตย์เปล่งรัศมี ดังเหรียญเลขที่ AN321813001 สมบัติของบริติสมิวเซียม ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างปีที่ 6 ถึงปีที่ 9 แห่งการครองราชนั้น พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำเกียรติยศ มีภาพพระพักตร์ของพระองค์ บ้างครึ่งองค์ บ้างเต็มองค์ นั่งขัดสมาธิ มีทั้งตัวเล็กและตัวโต ด้านหลังเป็นภาพสิงโตหมอบมีดวงอาทิตย์เปล่งรังสีครอบบนหลัง ซึ่งมีรูปแบบคล้ายเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตครั้งแรก ที่เป็นภาพพระเจ้าอักบาร์ เพื่อมอบแก่ผู้ใกล้ชิดที่พระองค์โปรดปราน เจ้าผู้ครองแคว้น เหรียญกษาปณ์ทองคำเกียรติยศเหล่านี้มีศักดิ์ดั่งเหรียญตราสำหรับประดับบนผ้าโพกศีรษะเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี หรือติดบนหน้าอกเพื่อแสดงถึงเกียรติยศ จากนั้นในปีที่ 13 แห่งการครองราช พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) ได้บัญญัติให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทั้งเงินและทองคำ มีรูปจักรราศีที่หน้าเหรียญ ดังบันทึกในสมุดไดอารี่ส่วนพระองค์ ลงวันที่ 20 เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2162 (ค.ศ. 1619) ความว่า ก่อนหน้านี้ การผลิตเหรียญกษาปณ์มีกฏข้อบังคับว่า ต้องสลักชื่อของข้าพเจ้าบนหน้าเหรียญ ด้านหลังของเหรียญฯจะสลักชื่อสถานที่ผลิตและปีที่ครองราช ขณะนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ควรแทนชื่อเดือนที่ผลิตด้วยภาพเครื่องหมายประจำเดือนตามจักรราศีนั้นๆ บนด้านหนึ่งของเหรียญฯ เช่นเดือน Farwardin ให้แทนด้วยภาพของแกะตัวผู้ (Aries) หรือเดือน Ardibihisht ให้แทนด้วยภาพวัวตัวผู้ (Taurus) เป็นเช่นนี้ไปทุกๆเดือน โดยมีรูปดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมาจากภาพจักรราศีนั้น ......... (คัดจาก The Jahangirnama, translated, edited and annotated by Wheeler M. Thackston, Oxford University Press, 1999)

          เหรียญกษาปณ์จักรราศีเริ่มผลิตครั้งแรกเฉพาะเหรียญกษาปณ์เงินจากเมือง อามาดาบัด (Ahmadabad) มีเพียงรูป แกะ (Aries) วัวตัวผู้ (Taurus) คนคู่ (Gemini) ปู (Cancer) และ สิงโต (Leo) ผลิตได้เพียง 5 เดือน (เพิ่งจะผลิตได้ 5 สัญลักษณ์) เนื่องจากปัญหาสุขภาพ พระเจ้าจาหังกีร์จำต้องย้ายไปประทับที่เมืองอักกรา (Agra) ณ ที่เมืองอักกราแห่งนี้ส่วนใหญ่ผลิตแต่เหรียญทองคำ เหรียญกษาปณ์ 12 จักรราศีนี้เป็นที่นิยมของนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบ จึงมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการนับแต่นั้นมา

          ครั้นเมื่อ พระเจ้าชา จาฮัน (Shah Jahan) ได้ขึ้นครองราชสืบราชสมบัติต่อมา ความที่พระองค์เป็นผู้เคร่งศาสนาได้ออกกฏห้ามมิให้มีการผลิต ทรงเรียกคืนท้องพระคลังเพื่อหลอมละลาย หากพบว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครองผู้นั้นจะมีความผิดโทษถึงประหาร ด้วยเหตุฉะนี้ เหรียญกษาปณ์ 12 จักรราศีทั้งทองคำและเงิน แม้แต่เหรียญกษาปณ์ทองคำเกียรติยศมีภาพของพระเจ้าอักบาร์ พระเจ้าจาหังกีร์ และเหรียญกษาปณ์ฯที่มีชื่อพระนางนูร์จาฮันก็ไม่เว้น เหรียญฯเหล่านี้จึงหายไปจากระบบเงินตรากลายเป็นของหายากที่สุดในบรรดาเหรียญกษาปณ์ทั้งปวงของอินเดีย

          พระเจ้าออรังซิบ (Auranzib) ได้สืบราชสมบัติต่อมา ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเคร่งครัดต่อกฏแห่งศาสนาอิสลาม เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในรัชกาล จึงมีรูปแบบไม่ต่างไปจากแบบของพระราชบิดา ปลายรัชกาลนี้เริ่มเห็นปัญหาเกิดความขัดแย้งกับอังกฤษผู้รุกรานและนำไปสู่ความล่มสลายของอาณาจักรและราชวงศ์มูกัลในที่สุด

          มีพิพิธภัณฑสถานเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ครอบครองเหรียญกษาปณ์ทองคำครบชุด 12 จักรราศี คือ
          (1) British Museum, London, England.
          (2) Bode Museum, Berlin, Germany.
          (3) Bibliotheque National de France, France.

          ไม่ปรากฏนักสะสมผู้ใดครอบครองเหรียญกษาปณ์ทองคำครบชุด 12 จักรราศี ส่วนใหญ่มีเก็บกันรายละไม่กี่จักรราศี (ไม่กี่เหรียญ) จะมีก็แต่ Thai Private Hands ประเทศไทย มีครบชุดหลากพิมพ์

          ราชวงศ์มูกัลได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำและเงินหลายขนาด โดยเฉพาะพระเจ้าจาหังกีร์มีตั้งแต่ขนาดหัวเข็มหมุด คือเริ่มต้นจากน้ำหนักขนาดที่เล็กที่สุดคือ 1/30 โมเฮอร์ จากนั้น 1/4, 1/2 , 1, 5, 10, 100, 200 และ 1,000 โมเฮอร์ (ขนาดใหญ่และหนักที่สุดในโลก) เหรียญกษาปณ์ฯเหล่านี้ล้วนผลิตขึ้นจำนวนน้อยเพื่อเป็นของกำนัล จึงหายากมาก





เหรียญกษาปณ์ทองคำภาพพระเจ้าจาหังกีร์ ครบชุด Imperial mints.


เหรียญกษาปณ์ทองคำจักรราศีของพระเจ้าจาหังกีร์ ครบชุด Imperial Agra mints.


เหรียญกษาปณ์ทองคำจักรราศีของพระเจ้าจาหังกีร์ ครบชุด Imperial Agra mints.




คลิกที่นี่ เพื่อย้อนกลับสู่หน้าแรก